เมนูผักป้องกันโรค
ประโยชน์ของผักนานาชนิด
พืชผักต่างๆนั้นเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อคนเราอย่างมาก แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ผักแต่ละชนิดนั้นมีประโยชน์อย่างไร เราจึงยกตัวอย่างผักที่ควรกิน เพราะมีประโยชน์อย่างมากกับร่างกาย ได้แก่
สะเดา : มีเบต้าแคโรทีนสูง บำรุงสายตา เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้นอนหลับ
ผักกาดขาว : ช่วยระบบย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ แก้ไอ มีโฟเลตสูง บำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์
ต้นหอม : มีน้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาหารหวัด มีสารฟลาโวนอยด์ต้านมะเร็ง
แครอต : มีเบต้าแคโรทีนป้องกันโรคมะเร็ง มีแคลเซียม บำรุงกระดูก และฟัน
หอมใหญ่ : มีสารฟลาโวนอยด์ ช่วยลดอาการของโรคหัวใจ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
คะน้า : มีแคลเซียมและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันโรคกระดูกพรุน และมะเร็ง
พริก : มีแคปไซซินกระตุ้นการขยายตัวของเลือด ช่วยให้เจริญอาหาร ขับเหงื่อ
กระเจี๊ยบเขียว : ลดความดันโลหิต บำรุงสมอง ลดอาการกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ
ผักกระเฉด : ดับพิษไข้ กากใยช่วยระบบขับของเสีย เพิ่มการเผาผลาญสารอาหาร
ตำลึง : มีวิตามินเอสูง ดีต่อดวงตา เส้นใยจับไนเตรต ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
มะระ : มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นยาระบายอ่อนๆ น้ำคั้นลดระดับน้ำตาลในเลือด
ผักบุ้ง : บรรเทาอาการร้อนใน มีวิตามินเอบำรุงสายตา ธาตุเหล็กบำรุงเลือด
ขึ้นฉ่าย : กลิ่นหอมของขึ้นฉ่ายช่วยให้เจริญอาหาร มีวิตามินเอ บี และซี บำรุงสมอง ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
เห็ด : แคลอรีน้อย ไขมันต่ำ มีวิตามินดีสูง ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เสริมกระดูกและฟัน
บัวบก : มีวิตามินบีสูง ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย บำรุงสมองและความจำ บำรุงผิวพรรณ ลดอาการอักเสบ
สะระแหน่ : กลิ่นหอมเย็นของใบให้ความสดชื่น ทำให้ความคิดแจ่มใส แก้ปวดหัว
ชะพลู : รสชาติเผ็ดเล็กน้อย แก้จุกเสียด ขับเสมหะ มีแคลเซียมสูง
ชะอม : ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ขับลมในลำไส้ มีเส้นใยคอยจับอนุมูลอิสระ
หัวปลี : รสฝาด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และบำรุงน้ำนม มีกากใย โปรตีน และวิตามินซีสูง
กระเทียม : ลดไขมันในเลือด ป้องกันหัวใจขาดเลือด ใบกระเทียมมีโฟเลต เหล็ก วิตามินซีสูง
โหระพา : น้ำมันหอมระเหยทำให้โล่งจมูก ช่วยระบายลม มีเบต้าแคโรทีน และแคลเซียม
ขิง : บรรเทาอาการหวัด ลดอาการคัดจมูก รสเผ็ดร้อน แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
ข่า : น้ำมันหอมระเหย ช่วยระบบย่อยอาหาร ขับลม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
กระชาย : บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ มีวิตามินเอ และแคลเซียม
ถั่วพู : ให้คุณค่าทางอาหารสูง มีโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารที่ช่วยย่อยกรดไขมันอิ่มตัว
ดอกขจร : กระตุ้นให้รู้รสอาหาร ให้พลังงานสูง ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน
ถั่วฝักยาว : มีเส้นใย ช่วยลดคอเรสเตอรอล มีวิตามินซี ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก บำรุงเลือด
มะเขือเทศ : มีวิตามินเอสูง วิตามินซี รสเปรี้ยวช่วยกระตุ้นน้ำย่อย และแก้อาการคอแห้ง
กะหล่ำปลี : มีกลูโคซิโนเลท เมื่อแตกตัวจะเป็นสารต้านมะเร็ง และมีวิตามินซีสูง
มะเขือพวง : ช่วยให้เจริญอาหารและช่วยลดความดันเลือด มีแคลเซียม และฟอสฟอรัส
ผักชี : ขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร มีน้ำมันหอมระเหย แก้หวัด มีวิตามินเอและซีสูง
กุยช่าย : มีกากใยช่วยระบายของเสีย มีธาตุเหล็กช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
หัวผักกาด : แก้ไอ ขับเสมหะ เพิ่มภูมิต้านทานโรค มีสารช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวได้ดี
กะเพรา : แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง มีเบต้าแคโรทีนสูง ป้องกันโรคมะเร็ง และโรคหัวใจขาดเลือดได้
แมงลัก : ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ขับลม ขับเหงื่อ
ดอกแค : กินแก้ไข้ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เป็นราระบายอ่อนๆ มีวิตามินเอสูงบำรุงสายตา
เคล็ดลับการกินผักสดให้อร่อย
ความสดของวัตถุดิบช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหารอร่อย โดยเฉพาะผักสดที่ต้องกินสดๆ จึงจะได้รสชาติและคุณค่าอาหารครบถ้วย แต่การกินผักให้ปลอดภัยได้รสชาติ ต้องอาศัยเคล็ดลับดังต่อไปนี้
เอาใจใส่เมื่อซื้อ
ความสดของผักผลไม้กำหนดได้ตั้งแต่ขั้นตอนของการซื้อที่ควรเลือกผักสดๆ ไม่มีใบเน่าเสีย สี และรูปร่างต้องไม่ผิดปกติ คุณอาจดมดูก็ได้ว่ามีกลิ่นตุๆหรือไม่ เมื่อซื้อแล้วต้องใส่ตะกร้าแล้ววางผักไว้ด้านบนของตะกร้าเพื่อจะได้ไม่ถูกทับ และเกิดการช้ำได้
อย่าซื้อเก็บไว้เยอะเกินไป
เพราะการซื้อผักมาเก็บไว้มากๆ จะทำให้ผักไม่สด และอาจเกิดการเสียหายจนใช้ทำอาหารไม่ได้ จึงต้องทิ้งไป ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก เพราะฉะนั้นจึงควรเลือกซื้อมาเฉพาะที่จะใช้ทำอาหารในวันนั้นๆพอ
จัดเก็บอย่างเหมาะสม
การจัดเก็บอย่างเหมาะสมช่วยยืดอายุผักได้มาก เมื่อนำผักเข้าเก็บในตู้เย็นควรเก็บไว้ต่างหากในช่องเก็บผัก ซึ่งมีความชื้นมากกว่าและอากาศถ่ายเทได้สะดวกกว่าส่วนอื่นๆ สำหรับผักใบเขียวต้นเล็ก และช้ำง่าย เช่น ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ควรล้างน้ำเย็นทันทีที่ถึงบ้าน และปักไว้ในแก้วน้ำเมื่อเก็บเข้าตู้เย็น
ล้างเฉพาะที่จำเป็น
ตามหลักโภชนาการแล้ว ถ้าต้องการให้ผักและผลไม้คงความสดได้นานควรล้างก่อนกิน นอกจากผักที่ใช้ทำสลัดและพวกต้นหอม ผักชีฝรั่ง ก็ควรนำไปล้างก่อนนำไปเก็บในตู้เย็น และผักที่มีใบห่อหุ้มหลายชั้น เช่น ผักกาด กะหล่ำปลี ควรลอกเอาใบที่เน่าเสียออกก่อน และพืชหัวหรือผลอย่างมะเขือและแครอต ทำความสะอาดด้วยแปรงขนนุ่มในน้ำเย็นก่อนเก็บในตู้เย็น
รักษาความเย็นให้คงที่
การเก็บผักในตู้เย็นให้สดและอยู่ทนต้องเก็บไว้ในความเย็นระดับ 5 องศาเซลเซียส โดยเก็บผักที่ตัดหรือหั่นไว้ในกล่องหรือถุงมีฝาปิดมิดชิดเมื่อจะนำมากิน ถ้าเป็นที่บ้านให้เก็บไว้ในตู้เย็นจนกว่าจะถึงเวลากิน และในกรณีที่ไปปิกนิกนอกบ้าน ควรเก็บไว้ในกล่องรักษาความเย็นหรือกระติกน้ำแข็ง
ปลอดภัยไว้ก่อน
การกินผัก โดยเฉพาะผักสดมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและท้องร่วงได้ง่าย ดังนั้นเมื่อต้องกินผักสดต่างๆ จึงควรปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการรักษาความสะอาด ตั้งแต่ภาชนะที่ใส่ ตู้เย็น พื้นที่ประกอบอาหาร มีดที่ใช้หั่น เขียงที่รอง และล้างมือทุกครั้งก่อนทำอาหาร รวมทั้งล้างผักโดยแช่ไว้ในน้ำสะอาดละลายด่างทับทิม ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการกินผักโดยไม่เสี่ยงกับโรคภัยต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น